Skip to main content

ประวัติคณะ

จากภารกิจผลิตบัณฑิตที่มี “ความรู้คู่คุณธรรม” ตามปณิธานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ ก่อกำเนิดตั้งแต่ปีการศึกษา 2510 ภายใต้หน่วยงานที่มีชื่อในขณะนั้นว่า “แผนกวิชาพยาบาลศึกษา คณะครุศาสตร์” โดยมติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ซึ่งให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งและอนุมัติให้คณะครุศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง นับเป็นแผนกวิชาที่ 9 ของคณะครุศาสตร์ และต่อมาเปลี่ยนการเรียกชื่อ เป็นภาควิชาพยาบาลศึกษา ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ภายใต้การสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ท่านคณบดีผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ ซึ่งมีความเมตตาและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ตระหนักถึง ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการผลิตครูพยาบาลระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ความสามารถสูง เพื่อการพัฒนาวิชาชีพและแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในสมัยนั้น ภาควิชาพยาบาลศึกษา จึงมีภารกิจหลัก คือ โครงการผลิตครูพยาบาลระดับปริญญาตรี และต่อมาได้ผลิตบัณฑิต ระดับมหาบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารการพยาบาล เพื่อสร้างผู้นำทางการพยาบาลส่งผลให้ ศิษย์เก่าของภาควิชาหลายท่านได้สร้างชื่อเสียงและผลงานการ บริหารให้เป็นที่ยอมรับ ในวิชาชีพอย่างกว้างขวาง

ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่รับผิดชอบผลิตและพัฒนาบุคลากรทางพยาบาลศาสตร์ ที่ส่งประโยชน์แก่ประชาชนด้านสุขภาพอนามัย จึงมีเป้าหมายขยายการผลิตและพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในสาขาพยาบาลศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสภามหาวิทยาลัย พิจารณาจัดให้อยู่ในแผนการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529)

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2531 นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2531 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 239 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2531 คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสถาปนาเป็นคณะวิชาในอันดับที่ 16 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจัดตั้งคณะใหม่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติแต่งตั้ง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ท่านแรก คือ รศ.สมคิด รักษาสัตย์

ในช่วงแรก คณะพยาบาลศาสตร์ได้ดำเนินการผลิตพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพยาบาล และสาขาการพยาบาลศึกษา ต่อมาขยายการเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และสาขาพยาบาลศาสตร์ แขนงวิชา การพยาบาลมารดาและทารก การพยาบาลเด็ก การพยาบาลผู้ใหญ่ และการพยาบาลผู้สูงอายุ ในปีการศึกษา 2541 และในปีการศึกษา 2545 คณะฯ สนองนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาค โดยจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible learning) ในหลักสูตรสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษาที่มีการจัดการศึกษาทางไกลหลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยมีศูนย์ขยายโอกาสทางการเรียนรู้ จังหวัดตรัง ณ วิทยาลัยพยาบาลตรัง ต่อมาในปีการศึกษา 2550 คณะฯ ขยายโอกาสทางการศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาการบริหารการพยาบาล ไปที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และในปีการศึกษา 2551 โดยมีศูนย์กลางการเรียนการสอนที่คณะพยาบาลศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

เพื่อให้เป็นไปตามปณิธานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาผู้นำทางการพยาบาล และมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย สู่การเป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน เป็นผู้นำทางปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศและระดับสากล และเป็น“เสาหลักของแผ่นดิน Pillar of the Kingdom”

ตราสัญลักษณ์ และสี

“พระเกี้ยวบนตะเกียง” คือ สัญลักษณ์ของคณะฯ

พระเกี้ยว คือ สัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตะเกียง คือ สัญลักษณ์ของศาสตร์การพยาบาลและวิชาชีพที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่นการบริการสุขภาพ อย่างมีคุณภาพและคุณธรรม แสงปลายตะเกียง เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่ใช้ส่องทางของการ ปฏิบัติวิชาชีพซึ่งโชติช่วงตลอดเวลา ตะเกียง เปรียบเสมือนศาสตร์การพยาบาลที่มั่นคง เมื่อรวม ตะเกียงและแสงด้วยกันจึงเป็นสัญลักษณ์ของการบริการ ดังเช่น มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิด วิชาชีพการพยาบาล ทั้งการเขียนตำราเล่มแรก จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลและที่สำคัญคือเป็นผู้อาสา ที่เข้มแข็ง ปฏิบัติการพยาบาลแก่ทหารที่บาดเจ็บในสงครามคาบสมุทรใครเมีย จนได้รับสมญาว่า “The Lady of The Lamp”

คณะพยาบาลศาสตร์ จึงใช้สัญลักษณ์เป็น “พระเกี้ยวบนตะเกียง” เพื่อสื่อถึงความมุ่งมั่นที่ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นแหล่งในการสร้างความรู้ทางพยาบาลศาสตร์ เพื่อเป็นการนำทางการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยและผู้มีความต้องการด้านสุขภาพ การฟื้นสภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อการมีสุขภาวะและ คุณภาพชีวิตที่ดี

“สีแดงชาด” เป็นสีประจำพระองค์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่งต่อปวงชนชาวไทย และผู้ทรงเป็นพระมารดาของ “การพยาบาลไทย” ดังนั้น เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีพระอุตสาหวิริยะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า และทรงรับวิชาชีพการพยาบาล ไว้ในพระอุปภัมภ์ จนวิชาชีพการพยาบาลมีความก้าวหน้าจนปัจจุบัน ความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ คณะพยาบาลศาสตร์ จึงกำหนดให้ “สีแดงชาด” เป็น สีประจำคณะ